อาหารท้องถิ่นของโทโฮคุ (Tohoku)
อินะนิวะ อุด้ง (Inaniwa Udon) เป็นอุด้งที่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของอุด้งที่ดีที่สุดของญี่ปุ่น เส้นอุด้งที่ผลิตขึ้นด้วยกรรมวิธีแบบดั้งเดิมทางตอนใต้ของจังหวัดอะคิตะ (Akita) ลักษณะเป็นเส้นแบนเล็กๆ มีความเหนียวนุ่มลื่นคอ ด้วยเทคนิคการดึงยืดด้วยมือตามแบบดั้งเดิมที่ถ่ายทอดกันมายาวนาน อินะนิวะ อุด้ง (Inaniwa Udon) นั้นสามารถที่จะเลือกรับประทานแบบเย็นโดยจิ้มน้ำซอส หรือจะรับประทานแบบร้อนก็อร่อยทั้งนั้น
อิโมะนิ (Imoni) เป็นอาหารประเภทหม้อไฟ (นาเบะ) มีการรับประทานกันที่ภูมิภาคโทโฮคุ วัตถุดิบหลักที่ใช้คือเผือกญี่ปุ่นและเนื้อสัตว์ วิธีการทำและปรุงรสจะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น บ้างก็ปรุงรสด้วยโชยุ บ้างก็ใช้มิโซะ บางแห่งก็นิยมใช้เนื้อหมูเป็นวัตถุดิบ ในขณะที่บางแห่งก็นิยมใช้เนื้อไก่ ผู้คนในจังหวัดยะมะงะตะ(Yamagata) มักจะรวมตัวกันในหมู่มิตรสหาย เพื่อทำอิโมะนิทานกันในพื้นที่กลางแจ้งเป็นการสังสรรค์เชื่อมความสัมพันธ์กัน เรียกว่า อิโมะนิไค ซึ่งเมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วง บริเวณริมฝั่งแม่น้ำคิมิงะซากิในเมืองยะมะงะตะ (Yamagata) ก็จะแน่นขนัดไปด้วยกลุ่มผู้คนที่ออกมาจัดเทศกาล Nihon-ichi-no Imoni-kai Festival นี้นั่นเอง
วังโคะ โซบะ (Wanko soba) เป็นโซบะที่รับประทานกันมาแต่ดั้งเดิมในจังหวัดอิวะเตะ (Iwate) โดยใส่เส้นโซบะขนาดพอดีคำลงไปในชาม จากนั้นเมื่อทานหมด ก็จะมีโซบะชามใหม่มาเติมให้ทันที โดยชามโซบะที่ทานหมดแล้วจะถูกเรียงซ้อนกันขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่ออิ่มแล้วก็จะปิดฝาชามเป็นอันเสร็จสิ้น โดยเฉลี่ยแล้วหากเป็นผู้ชายวัยผู้ใหญ่ก็จะทานกันประมาณคนละ 60-80 ชามในแต่ละครั้ง และหากเป็นผู้หญิงก็จะทานกันประมาณคนละ 40-60 ชาม
ลิ้นวัวย่าง (Gyutan) เป็นลิ้นวัวที่หมักทิ้งไว้ 2-3 วันจนได้ที่ ส่วนมากจะไม่นิยมหั่นหนามาก ความยาวประมาณ 10 ซม. แล้วนำมาย่างด้วยเตาถ่าน ส่วนวิธีการย่างจะไม่ย่างจนสุกทั้งหมดเพราะจะทำให้เนื้อลิ้นวัวนั้นแข็งกระด้าง รับประทานคู่กับมิโซะผสมพริกเขียวรสเผ็ด รสสัมผัสนุ่มนวลชุ่มฉ่ำเป็นที่สุด หากมีโอกาสได้ไปเที่ยวเมืองเซนได (Sendai) จังหวัดมิยะงิ (Miyagi) ขอแนะนำให้ลองสั่ง “อาหารชุดลิ้นวัว” ซึ่งเสิร์ฟพร้อมข้าวหุงพันธุ์ยอดเยี่ยมของจังหวัด พร้อมซุปหางวัวมาในชุด
สัมผัสเสน่ห์แห่งโทโฮคุ (Tohoku)