มารู้จัก“ปลาอังโค” รสชาติแห่งฤดูหนาวกัน

รู้จัก “ปลาอังโค (Anko)” กันหรือเปล่า ปลาอังโคเป็นปลาที่มีรูปร่างแบนคล้ายถูกกดทับ หัวโต มีฟันอันแหลมคมเรียงอยู่ในปากกว้าง แถมหน้าตาก็พิลึกกึกกือ แต่รสชาติกลับอร่อย ช่างแตกต่างจากรูปร่างของมัน

ปลาอังโคมีคอลลาเจนสูง เนื้อปลามีไขมันน้อยและให้พลังงานต่ำจึงได้รับความนิยมมากในหมู่สาวๆ ฤดูกาลในการรับประทานปลาอังโคคือฤดูหนาว ได้แก่ช่วงพฤศจิกายนถึงมีนาคม และส่วนใหญ่มักจะรับประทานแบบหม้อไฟ (นาเบะ) และหากอยากอิ่มหนำกับปลาอังโคให้สุดๆ นี่คือสิ่งที่คุณควรรู้ไว้

1. ความอร่อยฉบับเรียบง่าย “หม้อไฟปลาอังโค (Anko-Nabe)”

โดยทั่วๆไปหม้อไฟปลาอังโคจะปรุงรสชาติด้วยการใส่มิโสะ(เต้าเจี้ยว)หรือซอสถั่วเหลือง ซึ่งจะให้รสชาติความสดอร่อยแบบธรรมชาติ  แต่ในร้านอาหารอาจจะมีการเพิ่มรสชาติหรือส่วนผสมอื่นๆแตกต่างกันออกไป ยิ่งใช้ตับปลาอังโคมากเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้รสชาติเปลี่ยนไปเท่านั้น สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มรับประทานและอยากสัมผัสรสชาติของปลาอังโคอย่างเต็มที่น่าจะลองเริ่มรับประทานหม้อไฟปลาอังโคแบบทั่วๆไปดูก่อน

2. ความอร่อยฉบับเข้มข้นแบบซุปโดบุ

ว่ากันว่า “ซุปโดบุ (Dobujiru) มีที่มาจากการคิดวิธีทำอาหารด้วยปลาอังโคของชาวประมงที่ต้องใช้น้ำอย่างประหยัดในขณะที่อาศัยอยู่บนเรือ โดยใช้เพียงน้ำจากผักกับปลาอังโคสับและเพิ่มรสชาติด้วยตับและเต้าเจี้ยวเพียงเท่านี้ก็ได้รสชาติที่เข้มข้นถึงใจ แต่สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยแล้วอาจจะเข้มข้นมากเกินไปจนรับประทานยาก ตามร้านอาหารจึงมักจะใส่น้ำซุปจืดหรือเครื่องปรุงรสเพื่อให้รับประทานได้ง่ายขึ้น แต่หากเป็น “ซุปโดบุ” แบบแท้ๆที่ใช้วิธีการเคี่ยวกับตับเยอะๆแล้วใส่ส่วนผสมและเต้าเจี้ยวแล้ว จะอร่อยเข้มข้นถึงใจกว่า “หม้อไฟปลาอังโค” ทั่วๆไปมาก

3. “ส่วนประกอบทั้งเจ็ด” ของปลาอังโค

นอกจากก้างแล้ว ทุกส่วนของปลาอังโคสามารถรับประทานได้ รสชาติและเนื้อสัมผัสที่แตกต่างกันของส่วนต่างๆถูกนำไปใช้ประกอบอาหารและเรียกกันว่า “ส่วนประกอบทั้งเจ็ด” ซึ่งประกอบด้วย ตับ รังไข่ ครีบหัวและหางปลา เนื้อปลา กระเพาะ เหงือก และหนัง

ถ้าพูดถึงอาหารที่ทำจากปลาอังโคแล้วคนมักจะรู้จักตับปลาอังโคกันดี แต่หากอยากลิ้มรสทุกๆส่วนของปลาอังโค ในคราวเดียว ขอแนะนำให้ลองหม้อไฟปลาอังโคแล้วจะไม่ผิดหวัง

4. ปลาอังโคดีทั้งต่อสุขภาพและความงาม

จริงๆแล้วปลาอังโคเป็นปลาที่อุดมไปด้วยสารอาหาร เนื้อที่แสนหวานนั้นเต็มไปด้วยคอลาเจนซึ่งจะช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง นอกจากนี้ตับของปลาอังโคยังมีวิตามินเอและวิตามินบี2 ที่จะช่วยลดภาวะโรคโลหิตจางและความดันโลหิตสูงรวมถึงโรคผิวหนังและโรคหวัด ทั้งยังมีปริมาณวิตามินอีสูงอีกด้วย

หนาวนี้ไปลองรับประทานปลาอังโคที่ญี่ปุ่นกันไหมพวกเรา

ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2015

จดหมายข่าวอื่นๆ