นอกจากจะไปทำบุญตามวัดและศาลเจ้าในญี่ปุ่นแล้ว ลองมาไล่เก็บตราประทับหรือโกะชุอิน (Goshuin) ตามประเพณีโบราณกันดีกว่า…
โกะชุอิน (Goshuin) หมายถึง ตราที่เราจะได้รับการประทับเมื่อไปนมัสการวัดหรือศาลเจ้า ลักษณะเป็นตราประทับสีแดง พร้อมด้วยตัวอักษรเขียนด้วยหมึกสีดำ ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวญี่ปุ่นมักจะนำกลับไปเก็บไว้ที่บ้าน โดยวางไว้ใกล้ๆ กับพระพุทธรูป ตัวอักษรที่เขียนด้วยหมึกอันงดงามรวมถึงดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้โกะชุอินได้รับการยกย่องอย่างสูงในฐานะเป็นผลงานศิลปะอย่างหนึ่งเลยทีเดียว
“โกะชุอินโจ (Goshuincho)”
สมุดสำหรับเก็บสะสมตราประทับโกะชุอิน (Goshuin)
ประเทศญี่ปุ่นนั้นเต็มไปด้วยวัดและศาลเจ้ามากมายมาตั้งแต่สมัยโบราณ และก็มีธรรมเนียมในการขอให้ทางวัดหรือศาลเจ้าที่ตนไปนมัสการนั้นช่วยประทับตราโกะชุอินนี้ลงบนสมุดโน้ตที่เรียกว่า โกะชุอินโจ (Goshuincho) เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานว่าได้เคยไปนมัสการมาแล้ว ในปัจจุบันมีผู้คนจำนวนมากที่นิยมเดินทางไปยังจุดเสริมดวง หรือที่เรียกกันว่าเป็น power spot (สถานที่ๆ ช่วยให้ดวงชะตาดีขึ้น) จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ “โกะชุอินโจ” กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง ซึ่งก็มีหลายแบบหลากสไตล์ ทั้งแบบญี่ปุ่นโบราณ แบบหลากสีสัน หรือแบบที่มีคาแรคเตอร์จากการ์ตูนเรื่องต่างๆ เป็นต้น
© Photo AC
© MenouNoMiseKawashima
© photoAC
© amgrrow Co.,Ltd
ในครั้งนี้เราจะมาแนะนำวิธีการอ่านโกะชุอิน (Goshuin) กัน
© photo AC
วิธีการอ่านโกะชุอิน (Goshuin) โดยทั่วไป (วัดพุทธ)
- ตราประทับสัญลักษณ์ของวัด
- ตัวอักษรแสดงชื่อพระประธานของวัด
- ตราประทับสัญลักษณ์พระประธานของวัด
- ตัวอักษรแสดงชื่อวัด
- ตราประทับสัญลักษณ์ของวัด
- วันที่เข้านมัสการ
วิธีการอ่านโกะชุอิน (Goshuin) โดยทั่วไป (ศาลเจ้าชินโต)
- ตัวอักษรที่มีความหมายว่าได้มานมัสการแล้ว
- ตราประทับสัญลักษณ์ของศาลเจ้า
- ชื่อศาลเจ้า
- สัญลักษณ์ประจำศาลเจ้า
- วันที่เข้านมัสการ
- อื่นๆ (เช่น เรื่องที่สำคัญหรือเกี่ยวข้องกับศาลเจ้านั้นๆ เป็นต้น)
การขอประทับตราโกะชุอิน (Goshuin)
-
1. ตรวจสอบข้อมูลล่วงหน้า
เนื่องจากไม่ใช่วัดและศาลเจ้าทุกแห่งจะมีตราประทับโกะชุอิน จึงควรตรวจสอบข้อมูลล่วงหน้าเพื่อความแน่ใจก่อนเดินทางไปนมัสการ
-
2. เดินทางไปนมัสการด้วยตนเอง
เนื่องจาก โกะชุอิน นั้นเป็นหลักฐานเพื่อยืนยันว่าบุคคลนั้นๆ ได้เดินทางมานมัสการยังวัดหรือศาลเจ้าแห่งนั้นๆ แล้ว จึงห้ามมิให้มีการซื้อขายกัน นอกจากนี้การเดินทางไปยังวัดหรือศาลเจ้าเพียงเพื่อไปขอประทับตราโกะชุอิน โดยไม่เข้านมัสการด้านใน ก็ถือเป็นการผิดมารยาทอีกด้วย
-
3. เตรียมสมุด โกะชุอินโจ (Goshuincho) ของตนเองไปล่วงหน้า
เนื่องจากเป็นการไม่สมควรที่จะขอให้ทางวัดหรือศาลเจ้าประทับตราโกะชุอินลงบนกระดาษหรือสมุดบันทึกทั่วไป จึงควรเตรียมสมุดโกะชุอินโจไปเองล่วงหน้า ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านเครื่องเขียนสไตล์ญี่ปุ่น และมีจำหน่ายตามวัดหรือศาลเจ้าใหญ่ๆ อีกด้วย และด้วยดีไซน์ที่มีให้เลือกหลากหลาย เชื่อว่าทุกคนจะสามารถหาโกะชุอินโจที่ถูกใจได้อย่างแน่นอน
-
4. รอด้วยความสงบเรียบร้อย
หลังจากนมัสการเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถแจ้งความประสงค์กับเจ้าหน้าที่ของทางวัดหรือศาลเจ้าได้ ว่าต้องการขอให้ประทับตราโกะชุอิน ซึ่งทางวัดและศาลเจ้าก็จะค่อยๆ ตั้งใจเขียนตัวอักษรให้ทีละตัวอย่างประณีตบรรจง เพราะฉะนั้นเราจึงควรรอเงียบๆ จนกว่าจะเขียนเสร็จ ซึ่งระหว่างรอ ก็ไม่ควรจะดื่มหรือทานอะไร ไม่ควรพูดคุยสัพเพเหระ และไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือ เนื่องจากจะเป็นการเสียมารยาท เช่นเดียวกันกับเวลาที่เราเข้านมัสการและสวดอธิษฐานขอพร
-
5. กล่าวแสดงความขอบคุณ
หลังจากได้รับตราประทับเรียบร้อยแล้ว ควรกล่าวแสดงความขอบคุณ หรืออาจบริจาคเงินเป็นการทำบุญก็ได้ ซึ่งไม่มีการกำหนดตายตัวว่าต้องเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ แต่โดยทั่วไปมักอยู่ที่ประมาณ 300-500 เยน
นอกจากนี้ ช่วงนี้ยังมีการจัด “Narita Transit Program” ซึ่งเป็นโปรแกรมทัวร์ชนิดพิเศษ ที่จัดขึ้นสำหรับผู้ที่เดินทางมายังสนามบินนาริตะเพื่อทรานสิทเท่านั้น โดยจะพาทัวร์เพื่อเก็บ “โกะชุอิน (Goshuin)” ตามวัดและศาลเจ้าต่างๆ โดยไม่เสียค่าบริการแต่อย่างใด ซึ่งนอกจากจะได้สัมผัสกับประสบการณ์การขอตราประทับ “โกะชุอิน (Goshuin)” ตามวัดและศาลเจ้าต่างๆ แล้ว ยังจะได้รับของที่ระลึกเป็นสมุด “โกะชุอินโจ” ซึ่งดีไซน์หน้าปกเป็นรูปนักแสดงคาบุกิ พร้อมด้วยแผ่นพับอธิบายความหมายของโกะชุอิน (Goshuin) (ภาษาอังกฤษ) ฟรีอีกด้วย (จนกว่าของจะหมด)
“Narita Transit Program”
เว็บไซต์ (ภาษาอังกฤษ) :
http://www.narita-transit-program.jp/index.html
ผู้ที่พอจะมีเวลาระหว่างทรานสิท และสนใจจะเข้าร่วมโปรแกรม สามารถติดต่อขอสมัครได้ที่ “Narita Transit Program Counter”บริเวณล็อบบี้ผู้โดยสารขาเข้า ชั้น 1 อาคารเทอร์มินอล 1 และเทอร์มินอล 2 สนามบินนาริตะ
“Narita Transit Program Counter”
เว็บไซต์ (ภาษาอังกฤษ) : http://www.narita-transit-program.jp/guide.html
ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2016