แม้บางครั้งคนเราอาจเชื่อในสิ่งที่ต่างกัน แต่เชื่อว่าทุกคนล้วนมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจเพื่อเป็นกำลังใจให้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้า เช่น ในศาสนาพุทธ คนสมัยก่อนมีวัดเป็นแหล่งรวมจิตใจ เป็นเหมือนศูนย์กลางชุมชน เป็นโรงเรียนขนาดย่อม หากมีเหตุให้คนในชุนชมหมดกำลังใจ วัดจะเป็นหนึ่งในศูนย์รวมจิตใจให้ผู้คนในชุมชน และสิ่งที่เชื่อมระหว่างวัดกับผู้คนนั้นก็คือ พระสงฆ์ผู้ปฎิบัติชอบและองค์พระที่เกิดจากความศรัทธาเลื่อมใสต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
หากกล่าวถึงศาสนาพุทธในญี่ปุ่น จะเห็นได้ว่าคนญี่ปุ่นมีความศรัทธาอันแรงกล้าต่อเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ร่วมไปถึงพระโพธิสัตว์และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สังเกตได้จากเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนา ไม่ว่าจะภูมิภาคไหนในประเทศญี่ปุ่น หากถึงช่วงเวลาการจัดงานแล้วทุกคนจะรวมใจเป็นหนึ่งเดียวเพื่อการสร้างสรรค์เทศกาลนั้น
เรื่องนี้เป็นครั้งแรกที่จะกล่าวกึงการตามรอยศรัทธาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของประเทศญี่ปุ่น ครั้งนี้ขอเริ่มต้นด้วยการแนะนำถึงความแตกต่างระหว่างวัดและศาลเจ้าก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อที่จะได้เป็นแนวทางการไหว้พระขอพรได้ถูกต้องตามธรรมเนียมของญี่ปุ่นในรูปแบบนักท่องเที่ยวต่างชาติคะ
ความแตกต่างระหว่างวัดและศาลเจ้า
ข้อมูล | วัด = (Otera) | ศาลเจ้า = (Jinja) |
ที่มาของความเชื่อ | ศาสนาพุทธที่มาจากอินเดีย โดยผ่านทางแผนดินใหญ่ที่ประเทศจีน | ศาสนา Shinto นับถือเทพเจ้าต่างๆ มากกว่าแปดล้านองค์ หรือนับถือสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติ (ความเชื่อดั้งเดิมของญี่ปุ่น) หรือคนที่ได้รับความเคารพนับถืบจากผู้คน |
การนับถือ | การสักการะบูชาพระพุทธเจ้า | การสักการะบูชาเทพเจ้า |
ธรรมเนียบปฎิบัติ | มีกระถางธูปให้จุดไหว้ขอพร |
|
จุดเด่น | มีองค์เทพ Nio หรือว่า ยักษ์ อยู่สองข้างทางประตูเข้า บางที่มีระฆังและเจดีย์ | มีซุ้มประตู โทริอิ ที่มีทั้งเสา แดง/ไม้/หิน |
การเดินตามรอยศรัทธาไหว้องค์พระใหญ่ ตอนที่ 1
พระพุทธรูปใหญ่ของคามาคูระ (Kamakura Daibutsu) อยู่ที่วัด Kotoku-in พระองค์นี้เป็นที่คุ้นตากันดีโดยเฉพาะตามโปสเตอร์โฆษณาบริษัททัวร์ญี่ปุ่นรวมไปถึงตามหนังสือคู่มือท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น เรียกได้ว่าพระพุทธรูปใหญ่แห่งคามาคูระได้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่น พระพุทธรูปใหญ่แห่งเมืองคามาคุระ นี้ คนส่วนใหญ่มักจะรู้จักกันในนาม Daibutsu ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “พระพุทธองค์ใหญ่”
หากถ้าใครได้ไปสัมผัสและไปขอพรพระพุทธรูปใหญ่แห่งคามาคูระแล้ว จะเห็นได้ว่า เมื่อมองจากระยะไกล องค์พระดูไม่สมส่วน เพราะพระหัตถ์จะดูเล็กกว่าช่วงตัว แต่หากอยากจะเห็นถึงความสมส่วนแล้วละก็จะต้องเดินเข้าไปยืนใกล้ๆโดยห่างจากองค์พระประมาณ 4-5 เมตรแล้วแหงนหน้ามองขึ้น จะเห็นองค์พระที่ดูสมส่วนรับกันอย่างสง่างามสมเกียรติ ส่วนสีของพระพุทธรูปใหญ่ของคามาคูระที่มองเห็นเป็นสีเขียวนั้นเกิดจากการที่สำริดทำปฏิกิริยากับสภาพอากาศทั้งฝนและหิมะเป็นเวลายาวนานจนกลายเป็นสีเขียวคล้ายมรกตอย่างที่เห็น
ประวัติของพระพุทธรูปใหญ่คามาคูระ
องค์พระตั้งอยู่ในบริเวณวัด Kotoku-in ในเมือง Kamakura อยู่ห่างจากเมืองหลวงอย่างกรุง Tokyo เพียงเล็กน้อย (จากสถานีชินจุกุ เดินทางด้วยรถไฟ ใช้เวลาเพียง 45 นาทีโดยประมาณ) พระพุทธรูปใหญ่ของคามาคูระเป็นพระพุทธรูปสำริดมีความสูง 13.35 เมตรและหนัก 125 ตันโดยประมาณ
แต่เดิมองค์พระเคยประดิษฐานอยู่ภายในห้องโถงขนาดใหญ่ แต่ตัวอาคารได้ถูกทำลายลงหลายต่อหลายครั้งในช่วงศตวรรษที่ 14 และ 15 เนื่องจากพายุไต้ฝุ่น ศึกสงคราม รวมทั้งคลื่นยักษ์ ครั้งสุดท้ายตัวอาคารถูกทำลายลงในปี ค.ศ. 1495 นับแต่นั้นไม่ได้มีการบูรณะสร้างหลังคาครอบองค์พระอีก ทุกวันนี้เราจึงเห็นพระพุทธรูปใหญ่ของคามาคูระประดิษฐานอยู่ในที่โล่งแจ้ง
ด้วยสัจธรรมคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า “ความดีเท่านั้นที่คงทน”เปรียบได้กับพระพุทธรูปใหญ่คามาคูระไม่เคลื่อนย้ายไปไหน ไม่ว่าจะโดนพายุ สึนามิสงคราม ที่ร้ายแรงขนาดไหน องค์พระก็ยังคงประดิษฐานอยู่ที่เดิมจึงเป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาจากคนญี่ปุ่น
จุดสำคัญที่ทำให้พระพุทธรูปใหญ่คามาคูระนั้นโด่งดัง และมีคนนับถือและศรัทธามากมายขนาดนี้ ก็เพราะการสร้างของพระพุทธรูปใหญ่มาจากเงินบริจาคโดยพระสงฆ์ และประชาชนที่ศรัทธา โดยเวลาล่วงเลยไปกว่า 750 ปีด้วยแรงศรัทธากับความเชื่อต่างๆ ทำให้คนญี่ปุ่นรวมถึงผู้คนจากทั่วโลกมาแสดงความเคารพต่อพระพุทธรูปใหญ่ของคามาคูระองค์นี้
Great Buddha of Kamakura (Daibutsu) | |
เวลาทำการ | วัด Kotoku-in เปิดเวลา 8:30 ถึง 17:30 (เข้าก่อนเวลา 17:15 ) |
ขอพรเรื่อง |
|
วันปิดทำการ | เปิดตลอดทั้งปี |
ค่าเข้าชม | 200 เยน |
ที่อยู่ | 4-2-28 Hase, Kamakura-shi, Kanagawa |
โทร | – |
เว็บไซต์ภาษาอังกฤษ | http://www.kotoku-in.jp/en/top.html |
เว็บไซต์ภาษาญี่ปุ่น | http://www.kotoku-in.jp/top.html |
เว็บไซต์ของ JNTO | http://www.jnto.go.jp/eng/location/spot/shritemp/kamakuradaibutsu.html |
การเดินทาง | จาก โตเกียว : สถานี Tokyo ถึง สถานี Kamakura โดย JR line , 1 ชั่วโมง สถานี Kamakura ถึง สถานี Hase โดย Enoshima Electric Railway , 5 นาที เดินจากสถานี Hase ใช้เวลาประมาณ 5 ถึง 10 นาที |
ติดตามเรื่อง การไหว้พระขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ ตอนที่ 2 ได้ในจดหมายข่าวฉบับเดือนพฤษภาคม 2557